nursekingnarai hospital lopburi

30 มี.ค. 2554

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

ปัญหาใหญ่ที่สุดทางสาธารณสุขระดับโลก ซึ่งยังไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควรคือ โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) โรคนี้พบมากที่สุดในประชากรสูงอายุ ผลข้างเคียงที่ตามมาจากการมีกระดูกพรุน คือ กระดูกหัก จากอุบัติเหตุเบาๆ ตำแหน่งของการเกิดกระดูกหักบ่อยที่สุดคือ ตะโพก สันหลัง และต้นแขน การหักของกระดูกตะโพกนั้น มีอันตราการตายสูงมากถึงร้อยละ 20 ผู้ป่วยจะตายในหนึ่งปี จากโรคแทรกที่ตามมาจากกระดูกพรุน เช่น ปอดบวม หลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน ส่วนผู้ป่วยที่เหลือหนึ่งในสาม ต้องนอนพักฟื้นยาวนานในโรงพยาบาล หรือสถานพักฟื้น นานเฉลี่ยถึงหนึ่งปี

อัตราเสี่ยงตลอดชีวิตของกระดูกหักของหญิงอายุ 50 ปี เท่ากับร้อยละ 40 ซึ่งมีอุบัติการใกล้เคียงกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบในชาย การเกิดตะโพกหักของผู้สูงอายุวัยเกิน 80 ปี มีมากถึงหนึ่งในสาม และชายหนึ่งในห้า อัตราตายจากกระดูกหักในหญิงมากกว่า อัตราตายรวมกันจากมะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก และมะเร็งปากมดลูกเสียอีก ฉะนั้น โรคกระดูกพรุนจึงจะเป็นโรคที่มีอัตราการตาย และอัตราเจ็บป่วยสูงมาก ในสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยโรคนี้ถึง 25 ล้านคน และมีกระดูกหักเกิดขึ้นถึง 1.3 ล้านคนต่อปี ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคนี้ สูงมากถึงหนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าโรคนี้ นำมายังความสิ้นเปลืองอย่างมหาศาลของงบประมาณการรักษา
อาจารย์ นายแพทย์อุดม วิศิษฎสุนทร นายกสมาคม รูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย ซึ่งมารดาของท่านป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านได้รวบรวมศึกษาเรื่องโรคกระดูกพรุน และพบว่า โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่มีลักษณะมวลสารของกระดูกต่ำ เสื่อสภาพของเซลล์กระดูก และตามด้วยเพิ่มการเสี่ยงต่อกระดูกหัก จากอุบัติเหตุเบาๆ โรคกระดูกเป็นโรคสลับซับซ้อน
มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างและเป็นโรคเรื้อรังและมีการดำเนิน ของโรคบางอย่างช้าๆ โดยไม่มีอาการแสดงจนเกิดกระดูกหัก ในวัยสูงอายุแล้ว โรคกระดูกพรุนจัดเป็นโรคที่เรามองข้ามมากที่สุด ทั้งในสาขาอายุรกรรมและศัลยกรรม เรามักจะรักษาผลสืบเนื่องของโรค เมื่อเกิดกระดูกหักแล้วเป็นที่น่ายินดีว่าในยี่สิบปีที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้ถึงพยาธิสภาพ (pathogenesis) ของการเกิดโรค และได้มีความรู้ใหม่ในการรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระดูกพรุน หรือลดความรุนแรงของโรค

ส่วนสาเหตุของโรคกระดูกพรุน อาจารย์ นายแพทย์อุดม วิศิษฎสุนทร ได้แยกออกเป็น 2 ประเภท
ประเภทที่ 1 คือ ชนิดปฐมภูมิ เกิดขึ้นในสตรี วัยหมดประจำเดือน กระดูกพรุนที่พบในผู้สูงอายุทั่วไปทั้งหญิงและชาย ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าสตรีมีมากกว่าบุรุษ
ประเภทที่ 2 คือ ชนิดทุติยภูมิ เป็นภาวะโรคกระดูกพรุนที่ในบางอย่าง เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคทางฮอร์โมนผิดปกติ ประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า คุชชิ่ง เกิดในการใช้ยาบางตัว เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาไทรอยด์ และที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันคือ ยาลูกกลอนเม็ดสีดำทั้งตำรับไทย จีน และหมอนอกระบบ
กระดูกพรุนชนิดปฐมภูมิเป็นโรคกระดูกพรุนที่พบบ่อยที่สุด โดยเฉพาะหญิงหลังหมดประจำเดือน ซึ่งสาเหตุสำคัญคือ การขาดเอสโตรเจนหญิงในวัยใกล้หมดประจำเดือน จะเริ่มพบอุบัติการของข้อมือหัก โดยเฉพาะกระดูกเรเคียส การเกิดมักตามหลังการหักล้มแล้วเอามือยันพื้น ส่วนกระดูกพรุนของผู้สูงอายุจะพบ ในผู้สูงอายุ 65 ปี พบได้ทั้ง ในหญิงและชาย มักเกิดตะโพกหักหลังการหกล้มเบาๆ เท่านั้น
การเกิดกระดูกสันหลังหักอาจเกิดหลังหกล้มเบาๆ ขณะเอี้ยวตัวหยิบของ ขณะนอนหลับแล้วพลิกตัวหรือไอแรงๆ นำมาสู่การปวดกระดูกหลังอย่างรุนแรง หลายรายเกิดกระดูกสันหลังหัก โดยไม่มีอาการมาตรวจพบตรงมีหลังคดงอผิดรูป โดยเฉพาะหลังโค้ง แบบโดเวจเจอร์ ซึ่งมีลักษณะหลังโกงนูนระดับทรวงอก คล้ายกับนักกีฬาสวมเสื้อเกราะที่ใช้ใส่เล่นรักบี้
โรคกระดูกพรุนซึ่งครั้งหนึ่งเคยชื่อว่า เป็นโรคที่ทุกคน ต้องเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการมีอายุมากขึ้น แต่ปัจจุบัน เราสามารถแยกผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ และรักษาป้องกันไม่ให้เกิดผลแทรกซ้อนคือ กระดูกหัก
อาจารย์ นายแพทย์อุดม วิศิษฎสุนทร ได้รวบรวมปัจจัยเสี่ยง การเกิดกระดูกพรุน ระดับฮอร์โมนเพศต่ำ เช่น

ประจำเดือนหมดก่อนวัยอันควร

ได้รับยาสเตียรอยด์หรือยาลูกกลอนสูตรต่างๆ

ประวัติกระดูกหักมาก่อน

รูปร่างผอมบาง

ดื่มสุราจัด

รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมต่ำ

การขาดวิตามินดีและไม่ได้รับแสงแดด

ประจำเดือนมาช้ากว่าวัยอันควร

ไม่ออกกำลังกาย

ดื่มกาแฟและยาชูกำลังที่ประกอบด้วยกาเฟอีน

ประวัติกระดูกหักง่ายในครอบครัว

คนผิวขาว และชาวเอเชีย
การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนถ้าลำพังอาศัยผลทางเอกซเรย์จะไม่แม่นยำ และเมื่อมีกระดูกบางโดยการอ่านจากเอกซเรย์ มักจะมีการสูญเสียกระดูกมากกว่าร้อยละ 50 ขึ้นไป บทบาทของเอกซเรย์จะใช้ในการวินิจฉัยผลแทรกซ้อนแล้วคือ กระดูกหัก

ปัจจุบันพบว่า การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก จะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำแม้ในระยะเริ่มแรก ทำให้ผู้ป่วยที่มีโรคกระดูกพรุนซึ่งจะมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก ได้เริ่มตระหนักและเริ่มทำการรักษา การตรวจวัดความหนาแน่น ของกระดูกโดยวิธี DXA (Dual energy X-ray absorptiometry) ในปัจจุบันเป็นวิธีที่แพร่หลายมากที่สุดและมีความแม่นยำสูงสุด การตรวจวิธีนี้ทำการตรวจที่กระดูกสันหลัง กระดูกขา และกระดูกแขน
ส่วนด้านการรักษาโรคกระดูกพรุนนั้นจะประกอบด้วย การรักษาด้วยยาและการรักษาโดยวิธีพฤติกรรมบำบัดโดยไม่ใช้ยา
การรักษาด้วยการใช้ยา
การรักษาด้วยการใช้ยาเป็นเรื่องซับซ้อน มีหลักการเพื่อยุติวัฏจักรของการเกิดกระดูกบางหรือกระดูกพรุน หลักการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างกระดูกและยา ที่มีฤทธิ์เสริมอย่างอื่น ซึ่งอาจจะต้องเกี่ยวข้องกับสารเคมีหลายตัว และฮอร์โมนบางตัวด้วย จึงแนะนำว่า ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่า เริ่มมีโรคกระดูกพรุนน่าจะได้ปรึกษาแพทย์ ซึ่งอาจจะเป็น

สูตินรีแพทย์ เพื่อดูแลสตรีวัยใกล้หมดประจำเดือน ที่เรียกกันว่า "วัยทอง"

พบแพทย์สาขาต่อมไร้ท่อ เพื่อแก้ปัญหา ขบวนการของแคลเซียมและฮอร์โมนต่างๆ

พบแพทย์สาขาโรคข้อและรูมาติสซั่ม เพื่อช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เพื่อบริหารยาผู้ป่วยโรคกลุ่มนี้ได้อย่างถูกต้องและลึกซึ้ง

แพทย์ออร์โธปิดิกส์หรือแพทย์ศัลยกรรมกระดูก นั้น มีบทบาทในการผ่าตัดแก้ไขกระดูกหัก ณ ที่ต่างๆ ตามความชำนาญ
การรักษาโดยวิธีพฤติกรรมบำบัดโดยไม่ใช้ยา ได้แก่
พฤติกรรมรับประทานอาหาร ควรเพิ่มอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง เพิ่มอาหารที่มีเส้นใยประเภทผักใบเขียวเข้ม และเลือกชนิดที่มีแคลเซียมสูง เช่น ผักกวางตุ้ง ผักตำลึง ผักคะน้า ถั่วลันเตา ใบชะพูล ยอดแค ยอดสะเดา หลีกเลี่ยงที่มีอาหารไขมันสูง

พฤติกรรมการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ

พฤติกรรมการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วน

พฤติกรรมการพักผ่อน หลีกเลี่ยงอารมณ์เครียด

พฤติกรรมการระวังสุขภาพโดยการตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะท่านที่มีอายุวัย 45 ปีขึ้นไป
ประเทศไทยกำลังมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก ความรู้ในการดูแลระมัดระวังรักษาสุขภาพของประชาชนทั่วไปดีขึ้น ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของแพทย์ไทย ทำให้ประชากรของประเทศมีอายุเฉลี่ยยืนยาวเพิ่มมากขึ้น ทั้งสตรีและบุรุษ เมื่ออายุ 45 ปีขึ้นไป มีหลายโรคที่ต้องตรวจวินิจฉัย ให้ทราบถึงอัตราการเสื่อมของอวัยวะนั้นๆ และยังต้องตรวจกรอง โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุนเป็นอีกโรคหนึ่ง ที่ก้าวเข้ามามีบทบาทและมีความสำคัญในยุคปัจจุบัน ที่ผู้สูงอายุทุกท่านควรคำนึงถึง
---โรคกระดูกพรุน กับเศรษฐกิจพอเพียง---
โรคกระดูกพรุนทั้งที่เกิดในสตรีวัยทอง เกิดในบุรุษสูงอายุ เกิดในโรคต่างๆ หลายโรคนั้นกำลังเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งผู้สูงอายุควรคำนึงถึงโรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่สลับซับซ้อน มีแพทย์หลายสาขาให้ความสนใจในการศึกษาค้นคว้า รวมไปถึง วิธีให้การรักษาที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ สูตินรีแพทย์ แพทย์สาขาต่อไร้ท่อ แพทย์สาขาโรคข้อและรูมาติสซั่ม และแพทย์สาขาศัลยกรรมกระดูก
จากโครงการวิจัยการป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนในคนไทย โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน จากคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นหัวหน้าโครงการฯ ได้กล่าวโดยสรุปตอนหนึ่งว่า คนไทยมีความแตกต่างจากคนตะวันตก ในปัจจัยสำคัญๆ ที่ควบคุมเมตาบอลิสม์ของแคลเซียมคือ
คนไทยกินแคลเซียมน้อยกว่า

คนไทยกินโปรตีนและเกลือแกงน้อยกว่า

คนไทยมีระดับไวตามินดีในเซรั่มพอเพียงและไม่ลดลงตามอายุ

คนไทยจำนวนมาก (ร้อยละ 85) มี VRD genotype ชนิด bb ซึ่งมีความสามารถในการดูดแคลเซียมจากลำไส้ได้ดีกว่า

คนไทยในกรุงเทพมหานครค่อนข้างออกกำลังกายน้อย
จากความแตกต่างดังกล่าวนี้ จึงมีข้อสันนิษฐานว่า ปริมาณที่เหมาะสมของแคลเซียมที่คนไทยอายุต่างๆ ควรจะได้รับในแต่ละวันอาจจะน้อยกว่าปริมาณในคนตะวันตก ซึ่งจากรายงานศึกษาวิจัยต่างๆ ให้ผลสอดคล้องกันว่าอยู่ประมาณ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน
อุบัติการของโรคกระดูกพรุนของหญิงไทย ในกรุงเทพมหานครสูงกว่าของหญิงไทยในชนบทอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่บริเวณกระดูกสันหลัง, กระดูกตะโพก และกระดูกข้อมือ ความแตกต่างระหว่างหญิงในกรุงเทพมหานคร และหญิงในชนบทคือ หญิงในชนบทรับประทานแคลเซียมมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

โดยที่แหล่งของแคลเซียมของหญิงในชนบทจะได้มาจากพืชผัก และปลาเล็กปลาน้อย มากกว่าในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้ หรือสมมุติฐานทางอ้อมว่า แคลเซียมจากแหล่งอื่นจากอาหารไทย ที่ไม่ใช่นม น่าจะมีการดูดซึมได้ดี นอกจากนี้การศึกษายังพบอีกด้วยว่า หญิงในกรุงเทพฯ ได้รับแสงแดดน้อยกว่าและออกกำลังกาย น้อยกว่าหญิงในชนบทอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนอาหารประจำวันซึ่งเป็นอาหารไทยๆ หาได้ง่ายๆ ราคาไม่แพง และมีสารอาหารแคลเซียมสูงนั้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรัตน์ โคมินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้แนะนำไว้ว่า

ควรรวมอยู่ในอาหารประจำวันได้แก่ กุ้งแห้งตัวเล็ก 1 ช้อนโต๊ะ, กุ้งฝอย 1 ช้อนโต๊ะ, กะปิ 2 ช้อนชา, ปลาสลิด 1 ตัว, งาดำคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ, เต้าหู้ 1 ก้อน, ถั่วเหลืองสุก 10 ช้อนโต๊ะ, ถั่วเขียวสุก 10 ช้อนโต๊ะ, ใบยอ 1 ถ้วยตวง, มะขามฝักสด 10 ฝัก, ผักคะน้า 1 ถ้วยตวง, มะเขือพวง 1 ถ้วยตวง

                                                                             นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น