nursekingnarai hospital lopburi

4 มี.ค. 2554

การปวดหลัง (LOW BACK PAIN)

โครงสร้างของหลัง

สาเหตุของการปวดหลัง

จากอิริยาบทหรือท่าที่ไม่ถูกต้อง

การนั่ง นั่งหลังค่อมอยู่นาน ๆ

การยืน ยืนก้มลำตัว ทำงานบ่อย ๆ

การนอน นอนบนฟูกที่อ่อนนุ่มหรือนอนบนเก้าอี้ผ้าใบ

คนอ้วน พุงยื่นทำให้หลังแอ่นมากขึ้น

กล้ามเนื้อหลังหรือเอ็นข้อต่อถูกยึดหรือฉีกขาด, หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน, การเสื่อมสภาพของกระดูกสันหลัง, ความผิดปกติ ของโครงสร้างของตัวกระดูกสันหลัง

อารมณ์ตึงเครียด

สาเหตุอื่น ๆ เช่นโรคเกี่ยวกับอวัยวะในบางอย่าง เช่น โรคไต มดลูกอักเสบ ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น


อาการปวดหลัง Low back pain

อาการปวดหลังเป็นอาการหนึ่งที่เป็นกันบ่อยๆ ประมาณ 4/5ของผู้ใหญ่จะเกิดอาการปวดหลังซึ่งอาจจะมากบ้างน้อยบ้างขึ้นกับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และการดูแลตัวเอง ผู้ที่มีอาการปวดหลังร้อยละ50จะหายภายใน 2 สัปดาห์ ร้อยละ90 จะหายภายใน 3 เดือน จะพบผู้ป่วยร้อยละ 5-10ที่จะเป็นโรคปวดเรื้อรัง การที่มีอาการปวดหลังไม่ได้หมายความว่าจะมีการทำลายเนื้อเยื่อของร่างกาย การปวดหลังเป็นเพียงเกิดการอักเสบขึ้นที่โครงสร้างของหลัง อาการที่สำคัญที่แสดงว่าเส้นประสาทถูกทำลายและต้องพบแพทย์โดยด่วนได้แก่

•กลั้นปัสสาวะหรืออุจาระไม่อยู่

•อ่อนแรงของขา

บทความนี้จะกล่าวถึงกลไกการเกิดโรคปวดหลัง การป้องกัน การรักษา

ส่วนประกอบของหลังของเรา

หลังของเรามิได้ประกอบด้วยกระดูกชิ้นเดียวแต่ประกอบไปด้วยกระดูกสันหลังทั้งหมด 24 ชิ้นที่เรียกว่า vertebrae วางซ้อนกันตั้งแต่กระดูกสะโพกถึงกะโหลกศีรษะ ระหว่างกระดูกแต่ละชิ้นจะเนื้อนุ่มเหมือนฟองน้ำขั้นกลางเรียกหมอนรองกระดูก ซึ่งจะรับแรงกระแทกของกระดูก และเพิ่มความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว กระดูกสันหลังทำหน้าที่เป็นแกนกลางของร่างกาย กระดูกจะถูกยึดติดเป็นแนวโดยอาศัยกล้ามเนื้อและเอ็น การหดเกร็งกล้ามเนื้อหลังจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหว

หน้าอีกอย่างหนึ่งของกระดูกสันหลังคือเป็นทางผ่านของประสาทไขสันหลัง (spinal cord) วิ่งเริ่มต้นจากสมองในกะโหลกศีรษะลงมาในช่องกระดุกสันหลัง และมีเส้นประสาท ( spinal nerve ) ออกบริเวณข้อต่อของกระดูกไปเลี้ยงยังอวัยวะต่างๆ

แพทย์จะแบ่งกระดูกหลังออกเป็นห้าส่วนคือ cervical ,thoracic ,lumbar,sacrum ,coccyx ส่วนที่เคลื่อนไหวได้มากที่สุดคือส่วนเอว(lumbar) และเป็นส่วนที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้มากที่สุด อวัยวะที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้แก่

•รากประสาทที่ออกจากไขสันหลังอาจจะถูกกระตุ้นทำให้มีอาการปวด

•ปลายประสาทที่เลี้ยงไขสันหลังอาจจะถูกกระตุ้นทำให้มีอาการปวด

•กล้ามเนื้อหลังอาจเกร็งอยู่ตลอดเวลาทำให้เกิดอาการปวด

•กระดูกสันหลัง เอ็น และข้อต่อกระดูกสันหลังอาจจะเกิดโรคทำให้ปวด

•โรคที่เกิดระหว่างกระดูกเช่นหมอนกระดูกทับเส้นประสาท

ดังนั้นการทบทวนโครงสร้างของกระดูกสันหลังจะทำให้เราเข้าใจสาเหตุ กลไกการเกิดอาการปวดรวมทั้งการให้การรักษา ส่วนประกอบสำคัญที่ประกอบเป็นกระดูกสันหลังได้แก่

1.Vertebral bodies 2.Vertebral discs3.Spinal cord and nerve roots 4.Muscles

สำหรับตำแหน่งที่มักจะทำให้เกิดอาการปวดได้แก่

•บริเวณกระดูกคอ cervical

•บริเวณกระดูกหน้าอก thorax

•บริเวณกระดูกเอว lumbar

ส่วนกระดูก sacrum เป็นกระดูก 5 ชิ้นเชื่อมติดกันและต่อกับกระกระดูกสะโพกที่เรียกว่า sacroiliac joint

สาเหตุของอาการปวดหลัง

สาเหตุของโรคปวดหลังส่วนใหญ่ไม่ร้ายแรงมักจะเกิดจากหดเกร็งของกล้ามเนื้อ อาการปวดมักจะเกิดทันที การเคลื่อนไหวบางท่าจะทำให้ปวดมากขึ้นสาเหตุที่พบบ่อยๆได้แก่

•การนั่งผิดท่าเช่น การนั่งหลังโก่ง นั่งบิดๆ

•นั่งขับรถหลังโก่ง

•การยืนที่ผิดท่า

•การยกของผิดท่า

•การนอนบนที่นอนที่นุ่มหรือแข็งเกินไป

•ร่างกายไม่แข็งแรง

•ทำงานมากไป

การไม่ออกกำลังจะทำให้กล้ามเนื้อไม่มีกำลังที่จะทำให้หลังอยู่ในท่าที่ถูกต้อง ทำให้เกิดการดึงรั้งกล้ามเนื้อข้างหนึ่งจึงเกิดอาการปวดหลัง อาการปวดอาจจะปวดมากจนกระทั่งไม่สามารถยืนหรือก้ม นอกจากนั้นการเคลื่อนไหวที่ผิดวิธีก็เป็นสาเหตุสำคัญของโรคปวดหลังรายละเอียดอ่านได้ที่นี่

การแบ่งชนิดของโรคปวดหลัง

โรคปวดหลังเราจะแบ่งชนิดตามระยะเวลาที่เกิดอาการของโรคกล่าวคือ ปวดหลังแบบเฉียบพลันอาการมักจะไม่เกิน 6 สัปดาห์ ถ้าอาการปวดมากกว่า 12 สัปดาห์เรียกปวดหลังเรื้อรังส่วนระยะเวลาที่ปวดอยู่ระหว่าง 6-12 สัปดาห์เรียก Subacute การที่ต้องแบ่งระยะเวลาก็เพื่อจะบอกการดำเนินของโรค

ผู้ป่วยโรคปวดหลังต้องแจ้งประวัติอะไรบ้าง

การวินิจฉัยโรคปวดหลังต้องอาศัยประวัติที่ละเอียดเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ

•ประวัติเป็นมะเร็ง หากท่านเคยเป็นมะเร็งแม้ว่าจะรักษาแล้วต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเพราะอาจจะเป็นมะเร็งแพร่กระจาย

•น้ำหนักลดลงโดยที่ไม่ได้คุมอาหาร

•การใช้ยากดภูมิคุ้มกัน

•การใช้ยา steroid เพราะหากใช้นานอาจจะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน

•การติดยาเสพติด

•การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

•เมื่อพักอาการปวดไม่หาย

•ไข้

•อุบัติเหตุที่เกิดกับหลังเช่น ตกที่สูง อุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์ ยกของหนักไป

•โรคกระดูกพรุน

•กลั้นปัสสาวะหรืออุจาระไม่อยู่

การตรวจร่างกาย

หลังจากซักประวัติแล้วแพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุของโรคปวดหลัง

•ท่ายืนและการเดิน Gait and Posture ท่ายืนก็อาจจะทำให้เราพบสาเหตุเช่น หลังโก่ง กระดูกหลังคด เดินแล้วขาลาก(หมอนกระดูกทับเส้นประสาท)

•การเคลื่อนไหวของหลัง Range of Motion โดยให้ผู้ป่วยก้ม แอ่นหลัง เอียงหลังออกด้านข้าง บิดเอว หากก้มหน้าแล้วปวดมักจะเกิดจากกล้ามเนื้อหลัง หากแอ่นแล้วปวดอาจจะเกิดจากไขสันหลังตีบ

•กดหาตำแหน่งที่เจ็บบนกระดูกสันหลัง Palpation or Percussion of the Spine หากกดเจ็บบนกระดูกสันหลังอาจจะเกิดโรคตรงบริเวณนั้นเช่น การติดเชื้อ กระดูกหัก

•เดินบนส้นเท้าและลุกขึ้น Heel-Toe Walk and Squat and Rise โดยการใช้ส้นเท้าเดินหรือนั่งยองๆแล้วลุกขึ้น หากไม่สามารถทำได้ให้นึกถึงมีอะไรกดที่ประสาทหลัง

•การตรวจ Straight Leg Raising Test โดยการให้ผู้ป่วยนอนแล้วยกขาขึ้นเมื่อมีอาการปวดวัดมุมระหว่างพื้นกับขา หากมุมนั้นไม่เกิน 60 องศาก็ให้นึกถึงโรคหมอนกระดูกทับเส้นประสาท

•การตรวจ Reflexes and Motor and Sensory Testing โดยแพทย์จะนำเครื่องมือคล้ายค้อนมาเคาะบริเวณเข่าและข้อเท้า ใช้เข็มทดสอบความรู้สึกของขา

การตรวจรังสี
ผู้ป่วยโรคปวดหลังไม่จำเป็นต้อง x-ray ทุกรายแต่จะเลือกเป็นรายๆไปตามประวัติและการตรวจร่างกาย อย่างไรก็ตามมีหลักที่จะพิจารณา x-ray ในผู้ป่วยต่อไปนี้

•อายุมากกว่า 50 ปี

•ได้รับอุบัติเหตุที่หลัง

•มีอาการชาหรืออ่อนแรงที่ขา

•มีน้ำหนักลดโดยที่หาสาเหตุไม่ได้

•ติดยาเสพติดหรือดื่มสุรา

•ประวัติเคยเป็นมะเร็ง

•ใช้ยา steroid

•ไข้มากกว่า 37.8 องศา

•อาการเป็นมากกว่า 1 เดือนยังไม่หายปวด

การป้องกันโรคปวดหลัง

การป้องกันโรคปวดหลังดีที่สุดคือการออกกำลังกายและป้องกันหลังมิให้ได้รับอุบัติเหตุ

1.บริหารร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอโดยเฉพาะกล้ามเนื้อหลัง เพราะเราไม่เคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง การออกกำลังจะต้องค่อยสร้างความแข็งแรงทั้งกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลัง และจะต้องให้ข้อมีการเคลื่อนไหวได้ดีไม่มีข้อติด การออกกำลังอาจจะทำได้โดยการเดิน การขี่จักรยาน การว่ายน้ำจะทำให้หลังแข็งแรง

2.รักษาน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมไม่ให้อ้วนโดยการรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ ออกกำลังแบบ aerobic เช่นการวิ่ง ขี่จักรยาน

3.การนั่งหรือยืนให้ถูกท่า เพราะการนั่งหรือการยืนที่ผิดท่าจะทำให้เกิดอาการปวดหลัง

•การยืนควรจะยืนตัวตรงหลังไม่โก่งหรือคด แนวติ่งหู ไหล่และข้อสะโพกควรเป็นแนวเส้นตรง ไม่ควรยืนนานเกินไปไม่ควรใส่รองเท้าที่มีส้นควรจะมีเบาะรองฝ่าเท้า หากต้องยืนนานควรมีที่พักเพื่อสลับเท้าพัก

•การนั่งจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อกระดูกหลังมากที่สุด ควรจะพนักพิงหลังบริเวณเอว ควรจะเป็นเก้าอี้ที่หมุนได้เพื่อป้องกันการบิดของเอว มีที่พักของแขนขณะที่นั่งพักหัวเข่าควรอยู่สูงกว่าระดับข้อสะโพกเล็กน้อย ควรมีเบาะรองเท้า ควรจะมีหมอนเล็กๆรองบริเวณเอว ควรเลือกเก้าอี้ที่ถูกต้อง

•การขับรถโดยเฉพาะการขับรถทางไกล ควรเลื่อนเบาะนั่งให้ใกล้เพื่อป้องกันการงอหลัง หลังส่วนล่างควรจะพิงกับเบาะ เบาะไม่ควรเอียงเกิน 30 องศา เบาะนั่งควรจะยกด้านหน้าให้สูงกว่าด้านหลังเล็กน้อย หากขับรถทางไกลควรจะพักเดินทุกชั่วโมง และไม่ควรยกของหนักทันทีหลังหยุดขับ

•การนอน ที่นอนไม่ควรจะนุ่มหรือแข็งเกินไป ควรจะวางไม้หนา 1/4 นิ้วระหว่างสปริงและฟูกท่าที่ดีคือให้นอนตะแคงและก่ายหมอนข้าง หรือนอนหงายโดยมีหมอนรองที่ข้อเข่า ไม่ควรนอนหงายโดยที่ไม่มีหมอนหนุน หรือนอนตะแคงโดยไม่มีหมอนข้างหรือนอนคว่ำ

•การนั่งที่ถูกต้อง ต้องนั่งให้หลังตรงหลังพิงพนักเก้าอี้ เก้าอี้ต้องไม่สูงเกินไป ระดับเข่าควรจะอยู่สูงกว่าระดับสะโพก อาจจะหาเก้าอี้เล็กรองเท้าเวลานั่ง
•การยืนนานๆ ควรจะมีเก้าอี้หรือโต๊ะเล็กไว้วางเท้าข้างหนึ่ง
•นั่งหลังตรงและมีพนักพิงที่หลัง
•หาหมอนหรือผ้ารองบริเวณเอว
•ให้ยืนยืดเส้นทุก 20-30 นาที
•อย่ายืนหลังค่อม
•ให้ยืนยืดไหล่อย่าห่อ ไหล่เพราะจะเมื่อยคอ
•อย่าใส่รองเท้าที่ส้นสูงมาก
•ให้เลือกวิธีอื่นเช่น การผักหรือดัน
•ถ้าหนักไปอย่ายก ให้หาคนช่วย
•เวลาจะยกให้เดินเข้าใกล้สิ่งที่จะยก
•ย่อเขาลงแล้วจับแล้วยืนขึ้น
•ไม่ก้มหลังไปยก
ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคปวดหลัง
1.หลีกเลี่ยงจากการงอเอว ให้งอข้อสะโพกและเข่าร่วมด้วย

2.หลีกเลี่ยงจากการยกของหนักโดยเฉพาะที่อยู่เกินเอว

3.หันหน้าเข้าสิ่งของทุกครั้งที่จะยกของ

4.ถือของหนักชิดตัว

5.ไม่ยกหรือพลักของที่หนักเกินตัว

6.หลีกเลี่ยงการยกของที่มีน้ำหนักไม่เท่ากัน

7.หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว

8.เปลี่ยนท่าบ่อยๆ

9.การถูพื้น ดูดฝุ่น การขุดดิน ควรจะถือเครื่องมือไว้ใกล้ตัว ไม่ก้าวยาวๆหรือเอื้อมมือหยิบของ

10.ให้นั่งสวมถุงเท้า รองเท้า ไม่ยืนเท้าข้างเดียวสวมรองเท้าหรือถุงเท้า

11.ใช้รองเท้าส้นเตี้ย

12.หลีกเลี่ยงการแอ่นหรืองอหลัง เช่นการแอ่นหลังไปข้างหลังหรือก้มเอานิ้วมือจรดพื้น

13.เมื่อจะไอหรือจามให้กระชับหลังและงอหัวเข่า

14.เวลาปูเตียงให้คุกเข่า

การรักษา

เป็นการยากสำหรับผู้ป่วยที่จะประเมินว่าอาการปวดหลังเกิดจากกล้ามเนื้อหรือเกิดจากโรคอื่น แต่มีข้อแนะนำว่าควรจะพบกับแพทย์หากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย

•ปัสสาวะลำบาก

•มีอาการชาบริเวณหลังหรือบริเวณอวัยวะเพศ

•มีอาการชาและอ่อนแรงขาข้างหนึ่ง

•มีอาการปวดแปล๊บที่ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง

•เดินเซ

การป้องกันอาการปวดหลัง.
1.1 การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและทนทานของกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลัง
ท่าที่ 1
1. นอนหงาย เข่างอ กดหลังลงบนที่นอน มือ 2 ข้างประสานสอดใต้ศรีษะ




ท่าที่ 2
2. ให้เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง โดยยกศีรษะและไหล่ขึ้น แล้วขมิบก้นเต็มที่ ก้นจะยกขึ้นเล็กน้อย แต่หลังยังแนบกับที่นอนตลอดเวลา ค้างไว้ 5 วินาที แล้วกลับไปอยู่ในท่าเดิม ทำซ้ำ 10-15 ครั้ง


1. ท่าเตรียม งอเข่า กดศีรษะไหล่กับพื้น มือ 2 ข้างเหยียดตรงกดกับพื้น

2. ยกลำตัว สะโพก และโคนขาให้สูงขึ้น ค้างไว้ 5 วินาที กลับสู่ท่าเตรียม พักแล้วทำซ้ำ 10-15 ครั้ง

ท่าที่ 3
1. นอนคว่ำ ใช้หมอนหนุนช่วงหน้าอกและท้อง
2. แอ่นหลัง แตะไหล่แล้วค่อยๆ ดันตัวขึ้นพร้อมหายใจเข้าลึก ๆ
และหายใจออกขณะลดตัวลง ทำซ้ำ 10-15 ครั้ง

1.2 การออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นหรืออ่อนตัวของกล้ามเนื้อหลังและกล้ามเนื้อขา

ท่าที่ 1
1. นั่งบนเตียง ขาข้างหนึ่งเหยียดตรง ขาอีกข้างวางบนที่พักขา

2. เหยียดแขน 2 ข้างตรง วางบนขาข้างที่เหยียดตรง หายใจเข้าลึก ๆ และค่อย ๆ ก้มศีรษะลำตัวและหลังเลือนแขนไปให้สุดเท่าที่จะทำได้ หายออกช้าๆ แล้วกลับไปอยู่ในท่าเดิม ทำซ้ำ 10-15 ครั้ง
ท่าที่ 2

1. นั่งบนเตียง ขาข้างหนึ่งเหยียดตรง ขาอีกข้างหนึ่งงอ

2. เหยียดแขน 2 ข้างตรง วางบนขาข้างที่เหยียดตรง หายใจเข้าลึก ๆ และค่อย ๆ ก้มศีรษะลำตัวและหลังเลือนแขนไปให้สุดเท่าที่จะทำได้ หายออกช้าๆ แล้วกลับไปอยู่ในท่าเดิม ทำซ้ำ 10-15 ครั้ง

ท่าที่ 3

1. นอนหงาย เข่างอกดหลังบนที่นอน มือทั้ง 2 ข้างประสาน สอดใต้เข่าข้างใดข้างหนึ่ง

2. หายใจเข้าช้า ๆ และโน้มเข่าเข้ามาที่หน้าอก หายใจออกช้าๆ แล้วสลับขาอีกข้างหนึ่ง

3. ใช้มือ 2 ข้าง ประสานสอดใต้เข่าทั้ง 2 ข้าง หายใจเข้าช้า ๆ และโน้มเข่า 2 ข้าง เข้ามาชิดหน้าอก หายใจออกช้าๆ แล้วกลับไปอยู่ใน ท่าเดิม ทำซ้ำ 10-15 ครั้ง

 ท่าที่ 4
1. นอนหงาย ขาข้างหนึ่งเหยียดตรง ชันชาอีกข้างหนึ่ง แขนทั้ง 2 ข้างเหยียดตรง กดหลังบนที่นอน

2. หายใจเข้าช้า ๆ ยกขาข้างที่เหยียดตรงให้สูง นับ 1-10 แล้วหายใจออกช้า ๆ พร้อมทั้งค่อย ๆ วางขาลง สลับขาอีกข้างหนึ่ง ทำซ้ำ 10-15 ครั้ง

 

 ลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวร่างกายที่ถูกต้อง

การยืน

1. การยืนให้ยืดหลังให้ตรง และยืดศีรษะให้ตรงกับแนวบ่าทั้ง 2 ข้าง แขม่วหน้าท้องไม่ให้ยื่นออก

2. ถ้าต้องยืนนาน ๆ ควรวางขาข้างหนึ่งบนที่พักขา เพราะเวลางอสะโพกและเข่า กระดูกสันหลังจะตั้งตรงไม่แอ่นหรืองอ ทำให้ยืนได้นาน โดยไม่ปวดขา

3. ใช้การย่อเข่าเล็กน้อยให้หลังตรง แทนการก้มตัว เมื่อต้องการทำกิจกรรมใด ๆ เช่นการแปรงฟัน

4. การเดินต้องเดินตัวตรง ศีรษะตรง หลังตรง ก้าวเท้าตรงไปข้างหน้า แขนแกว่งเล็กน้อยและสวมรองเท้าที่สวมสบาย ๆ ทำด้วยยางหรือ วัสดุที่ไม่ลื่น

หลากหลายคำถามอาการปวดหลังที่มีคำตอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกและข้อ

1. อาการปวดหลังเกิดได้มากน้อยแค่ไหน ?


อาการปวดหลังเกิดได้บ่อยมาก ไม่น้อยกว่าปวดศีรษะ ร้อยละ 70 ของผู้ใช้แรงงาน ในประเทศอุตสาหกรรม จะต้องเคย ปวดหลัง อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิตหรือมากกว่า ส่วนมากจะมีอายุ 30-60 ปี ในประเทศไทยผู้ป่วยปวดหลังพบได้มากขึ้น เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงานและในคนสูงอายุ
2. ค่าใช้จ่ายในการรักษา ความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ?

เนื่องจากผู้ทำงานมีอาการปวดหลังในอัตราค่อนข้างสูง บางคนเป็นมาก ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ขึ้นกับความรุนแรง และพยาธิสภาพของโรคและอาการเจ็บปวด ปัจจุบันค่าใช้จ่ายจะสูง เพราะยาประเภทแก้อักเสบ แก้ปวด มีราคาแพงขึ้น ค่าปฏิบัติการ ในการวินิจฉัยโรค เช่น การถ่ายภาพรังสี การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กและ ถ้ามีความจำเป็นต้องผ่าตัด โดยเฉพาะในราย ที่ต้องใช้ อุปกรณ์ในการรักษาที่มีราคาแพง จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก เป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก
3. สาเหตุของการปวดหลัง เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

มีสาเหตุมากตั้งแต่อุบัติเหตุภยันตรายที่เกิดขึ้นกับหลัง สาเหตุจากการทำงาน เช่น ยกของหนัก, จากการเล่นกีฬา ซึ่งจะมี ภยันตรายต่อกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก หมอนรองกระดูกสันหลัง ปวดหลังอาจมีสาเหตุมาจากโรคต่างๆ เช่น การอักเสบของข้อต่อ กระดูกสันหลัง ข้อเสื่อม การติดเชื้อ เช่น วัณโรคกระดูกสันหลัง ในคนวัยชรากระดูกเปราะบาง กระดูกหักยุบ ข้อต่อกระดูกสันหลัง เสื่อม หมอนรองกระดูกสันหลังเลื่อนเคลื่อนกดทับรากประสาทสันหลัง, เนื้องอกหรือมะเร็งกระดูกสันหลังเป็นสาเหตุ และทำให้เกิดอาการปวดหลังได้

นอกจากนี้อาการปวดหลังอาจมีสาเหตุมาจากพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นกับอวัยวะข้างเคียงกับ กระดูกสันหลัง เช่น ไต, ตับ, ตับอ่อน, ลำไส้, อวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง เป็นต้น

4. ผู้ชายอายุ 35 ปี ก้มยกของหนัก เกิดเสียงดังที่หลังแล้วมีอาการปวดหลังเสียวร้าวลงขา เดินไม่ถนัด ขาชา และอ่อนแรง ป็นอะไรได้บ้าง

ผู้ที่ทำงานก้มยกของหนัก ไม่ระมัดระวังจะมีการเลื่อนหรือการแตกของหมอนรองกระดูกสันหลัง เนื้อหมอนรองกระดูก จะเคลื่อนเข้าไป ในท่อไขสันหลัง กดทับรากประสาทสันหลัง ทำให้ปวดร้าวลงขา น่อง เท้าข้างนั้น พยาธิสภาพเช่นนี้ มักเกิดที่ กระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอว ที่ข้อต่อกระดูกสันหลังระดับ L4-L5, L5-S1 ต้องวิเคราะห์แยกโรคว่า ไม่ใช่เป็นอย่างอื่น เช่น ภาวะการติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง เนื้องอกกระดูกสันหลัง, กระดูกสันหลังหักยุบ ซึ่งจะมีอาการคล้ายกันได้ การตรวจร่างกาย อย่างละเอียด เอกซเรย์ หรืออาจต้องทำการตรวจ ด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) จะวินิจฉัยโรคได้
5. เด็กชายวัยรุ่นอายุ 17-20 ปี หรืออาจมากกว่านี้มีอาการปวดหลังและหลังค่อยๆ ค่อมลง เป็นโรคอะไรได้บ้าง?

อาจเป็นโรครูมาติสซั่มชนิดหนึ่งชื่อภาษาอังกฤษคือ Ankylosing Spondylitis พบมากในเพศชายวัยรุ่น เมื่อเกิดโรคนี้แล้ว จะมีอาการอักเสบที่ข้อต่อกระดูกซี่โครงกับกระดูกสันหลังส่วนหน้า, ข้อกระดูกเชิงกราน ข้อกระดูกสันหลัง ทั้งทางด้านหน้าและหลัง ตัวจะค่อยๆ ค่อมลง เพราะโรคลุกลามขึ้นไปถึงกระดูกคอเมื่ออายุมากขึ้น, บางรายโรคลามลงมาถึงข้อสะโพก จนทำให้ข้อสะโพก แข็งได้ เมื่อเป็นโรคเต็มที่แล้วคอจะงอเงยไม่ขึ้น หลังโก่งงอ ตัวแข็ง หายใจได้ไม่เต็มที่ ระยะแรกๆของโรคจะปวดหลัง, สะโพก แต่เมื่อเป็นมากจนตัวแข็งแล้วจะไม่ใคร่ปวด ในเด็กวัยรุ่นบางคนอาจเกิดภาวะหลังโก่งงอ หรือหลังคด (scoliosis, kyphoscoliosis, kyphosis) ซึ่งไม่ทราบสาเหตุและไม่ใช่โรคที่กล่าวแล้ว
6. ผู้หญิงอายุ 65 ปี หรือมากกว่านี้รูปร่างท้วม มีอาการปวดหลัง เมื่อลุกเดินไปได้ 50-100 เมตร จะมีอาการ ปวดหลัง ร้าวลงสะโพก, ลงไปที่น่องจนต้องหยุดพัก เมื่ออาการดีแล้วจึงลุกเดินไปได้อีกแต่จะมีอาการเช่นเดิม เมื่อหยุดพักจะหาย เมื่อลุกเดินก็มีอาการดังเดิม เป็นโรคอะไรได้บ้าง?

เกิดจากข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม ข้อหลวม ไม่มั่นคงและเกิดการเลื่อนของกระดูกสันหลังปล่องหนึ่ง (โดยเฉพาะที่ระดับ L4-L5) ไปทางด้านหน้า ทำให้ช่องไขสันหลังตีบแคบ ประสาทสันหลังถูกบีบรัด จึงทำให้เกิดอาการปวดร้าวลงไปทางด้านหลังสะโพก โคนขา, น่อง หรืออาจปวดถึงปลายเท้า โรคที่พบบ่อยคือ degenerative spondylolisthesis อาการเช่นนี้ อาจเกิดในคน ที่มีอายุน้อยกว่านี้ได้ แต่พยาธิสภาพไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ส่วนหลังของกระดูกสันหลังเกิดแยกทำให้ส่วนหน้า ของกระดูกเลื่อนไป ทางด้านหน้า ยังผลให้ท่อไขสันหลังตีบและเกิดการกดรัดประสาทสันหลังได้
7. วัณโรคกระดูกสันหลังเกิดขึ้นได้อย่างไร ลักษณะอาการเป็นอย่างไร ?

เกิดจากเชื้อวัณโรคชนิดเดียวกับที่ทำให้เป็นวัณโรคปอด, หรือที่ต่อมน้ำเหลือง ต่อมาเชื้อโรคน ี้จะกระจายไปที่กระดูก โดยเฉพาะ กระดูกสันหลัง ทางระบบท่อน้ำเหลือง หรือหลอดเลือดดำ เข้าสู่ส่วนหน้าของกระดูกสันหลัง ส่วนที่อยู่ติดกับหมอนรอง กระดูกสันหลัง ต่อมาจะทำลายกระดูกและหมอนรองกระดูก เมื่อถูกทำลายมากๆ จะทำให้กระดูกยุบตัว หลังโก่งงอ หนอง เศษกระดูก และหมอนรองกระดูก จะเคลื่อนเข้าสู่ช่องไขสันหลัง เกิดการกดทับไขสันหลังประสาทสันหลัง จนทำให้เกิดอัมพาต ของแขนและขา ถ้าเป็นที่กระดูกคอ ถ้าเป็นที่สันหลังก็เกิดอัมพาตของขาได้

ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคกระดูก มักเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันหรือความต้านทานของร่างกายต่ำ, ภาวะทุพโภชนาการ ขาดแคลนอาหาร, อยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ถูกสุขอนามัยที่ดี ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มากๆ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ มีแนวโน้มเป็นวัณโรคกระดูก โดยเฉพาะกระดูกสันหลังได้มาก สมัยนี้มียารักษาวัณโรคให้หายได้ดี ในกรณีที่เป็นมากจนเกิดเป็นอัมพาต ต้องผ่าตัดรักษา และสามารถแก้ไข ความพิการของหลังได้

8. ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ปวดหลังมีอะไรบ้าง?

มีหลายอย่าง เช่น คนที่ทำงานหนักก้มยกของหนักโดยไม่ระมัดระวังตัวจะทำให้กล้ามเนื้อหลังฉีกขาดเคล็ดยอก หมอนกระดูกสันหลังเลื่อน คนที่นั่งทำงานนานๆ ลักษณะท่าทางไม่ถูกต้อง เช่น ก้มตัวมากอยู่นานๆ ก็จะทำให้เกิดอาการนี้ได้ นักกีฬามีแนวโน้มทำให้เป็นโรคปวดหลัง เช่น กระโดดสูง, ยกน้ำหนัก, เทนนิส กีฬาที่ต้องปะทะกัน เช่น รักบี้ เป็นต้น
9. จะปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อมีอาการปวดหลังจากการทำงาน?

ถ้าปวดหลังจากการยกของหนัก หรือเบี้ยวบิดตัวแรงๆ เพื่อหยิบของ แนะนำให้พักผ่อนไม่ควรก้มยกของหนักหรือหิ้วของหนักอีก รับประทาน ยาแก้ปวด คลายกล้ามเนื้อ อาการจะดีขึ้นประมาณใน 2-3 วัน แต่ถ้าปฏิบัติดังกล่าวไม่ได้ผล ปวดมากขึ้น ปวดเสียวร้าวลงขา ควรไปพบแพทย์ แพทย์จะซักถามประวัติ และตรวจร่างกาย ท่านอย่างละเอียด อาจต้องเอกซเรย์กระดูกสันหลัง, ถ้าปวดรุนแรงโดยเฉพาะมีอาการทางระบบประสาท อาจต้องตรวจด้วยการฉีดสารทึบรังสีเข้าช่องไขสันหลัง หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) ในกรณีที่หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับ รากประสาทสันหลัง ถ้ารักษาทางยา, กายภาพบำบัดไม่ดีขึ้นอาจต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
10. มีความจำเป็นต้องรักษาผู้ป่วยปวดหลัง ด้วยวิธีการผ่าตัดทุกรายหรือไม่ ?

อาการปวดหลังที่จะต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด มีจำนวนไม่มากเมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนกับคนที่ปวดหลังทั้งหมด ขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพ ของโรคนั้นๆ ด้วย ว่าเป็นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้ารักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดจะไม่หายและโรคลุกลามเป็นมากขึ้น จะเป็นข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

โรคที่ทำให้ผู้ป่วยปวดหลังที่จะต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด เช่น หมอนกระดูกสันหลังเลื่อนมากหรือแตกกดทับรากประสาทสันหลัง ปวดร้าวลงขา ขาชาไม่มีแรง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่, วัณโรคกระดูกสันหลัง เนื้อกระดูกถูกทำลายมากผู้ป่วยเป็นอัมพาต, เนื้องอกกระดูกสันหลัง ข้อต่อกระดูก สันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังเลื่อนทับกดประสาทสันหลังจนมีอาการขาชาไม่มีแรง, รักษาทางยาและกายภาพบำบัดไม่ได้ผล เป็นต้น
11. ผู้ป่วยบางคนปวดหลัง แพทย์แนะนำผ่าตัด และให้ใส่โลหะยึดดามกระดูกสันหลัง เพราะอะไร?

การผ่าตัดกระดูกสันหลัง และยึดตรึงด้วยโลหะที่ประกอบด้วยสกรู แกนโลหะ มีการทำค่อนข้างแพร่หลาย บางรายไม่มีความจำเป็นต้องยึดตรึง ด้วยโลหะ รายที่ต้องยึดตรึงด้วยโลหะเพราะกระดูกสันหลังส่วนนั้นมีพยาธิสภาพมาก เช่น ในกรณีที่กระดูกสันหลังเลื่อน กระดูกและหมอนรอง กระดูกสันหลังกดทับรากประสาท มีความจำเป็นต้องผ่าตัดตัดกระดูกและข้อ รวมทั้งหมอนรองกระดูกหลัง ที่กดทับเส้นประสาทสันหลังออก ค่อนข้างมาก อันจะก่อให้เกิดความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลังส่วนนั้น จึงต้องยึดตรึงหรือดามด้วยโลหะพร้อมกับทำการตรึงกระดูกส่วนนั้นด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นคง ป้องกันการเลื่อนของกระดูก และไม่ให้รากประสาทถูกกดทับอีกต่อไป อัตราการผ่าตัดในโรคกระดูกสันหลังเสื่อม มีประมาณร้อยละ 10-15 เป็นอย่างมาก

โรคอื่นๆ ที่จำเป็นต้องผ่าตัดยึดตรึงด้วยโลหะ เช่นกระดูกสันหลังหักภายหลังผ่าตัดจัดกระดูกให้เข้าที่ เพื่อแก้ความพิการผิดรูปของกระดูกสันหลัง เครื่องยึดตรึงกระดูกสันหลังมีราคาแพง ไม่ควรใช้ยึดตรึงในรายที่ไม่จำเป็น แพทย์ควรคำนึงถึงภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์ ไม่เพียงพอ ใช้ไม่ถูกวิธีจะมีผลเสียมากกว่าดี