nursekingnarai hospital lopburi

10 มี.ค. 2555

กฎหมาย จริยธรรม วิชาชีพพยาบาล ที่พึงรู้

เมื่อพยาบาลจะทำการรักษาโรคเบื้องต้น




นางวารุณี สุรนิวงศ์
ที่ปรึกษากฎหมาย สภาการพยาบาล
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๔


ตามที่ เว็ปไซด์ www.medicthai.com ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “เมื่อพยาบาลจะทำการรักษาโรคเบื้องต้น” ว่า
เจตนารมณ์ของกฎหมายควบคุมวิชาชีพในอดีต(พระราชบัญญัติควบคุม
การประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙) เป็นจุดกำเนิดของพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม การพยาบาล เภสัชกรรม ทันตกรรม และอื่นๆ ซึ่งได้ระบุขอบข่ายของการปฏิบัติไว้ชัดเจนในกฎกระทรวง
เรื่องข้อกำหนดและเงื่อนไขในการประกอบโรคศิลปะ โดยเฉพาะผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาการพยาบาล
จะให้ยาคนเจ็บไข้ได้เฉพาะที่ผู้ประกอบโรคศิลปะ ซึ่งเป็นผู้บำบัดโรคคนเจ็บไข้ได้สั่งไว้ หรือเมื่อเป็นการปฐมพยาบาล ปัญหาก็คือการรักษาโรคเบื้องต้นของพยาบาลน่าจะเป็นการก้าวล้ำวิชาชีพเวชกรรม
ส่วนการใช้ยาในการรักษาโรคเบื้องต้นน่าจะเป็นการก้าวล้ำวิชาชีพเภสัชกรรม และฝ่าฝืนต่อกฎหมายยา ซึ่งผู้แสดงความเห็นสงสัยว่า ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติจะมีผลบังคับตามกฎหมายได้หรือไม่เพราะหากเพิกเฉยให้วิชาชีพล่วงล้ำซึ่งกันและกันโดยขาดการควบคุมผู้ได้รับเคราะห์กรรมสุดท้ายคงหนีไม่พ้นผู้ป่วย หรือผู้บริโภค ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศทางออกที่ดีที่สุดคือ ให้บุคลากรด้านสาธารณสุขทุกสาขาตระหนักและปฏิบัติตามภารกิจหน้าที่ตามความรู้ของตนในขอบเขตของกฎหมายปฏิบัติหน้าที่แบบองค์รวมและร่วมประสานกันแบบเครือข่ายนั้น



สภาการพยาบาล ขอเรียนว่า

๑) กฎหมายควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ได้มีการแยกสาขาออกไปเป็นกฎหมายที่ควบคุม
การประกอบวิชาชีพเฉพาะในแต่ละสาขานั้นถูกต้องแล้ว ปัจจุบันแต่ละสาขาที่มีกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพ
ของตนเป็นการเฉพาะก็ต้องประกอบวิชาชีพตามข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพนั้น และมีข้อยกเว้นให้การประกอบวิชาชีพในแต่ละสาขาเป็นการประกอบวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น จึงไม่ใช่การก้าวล้ำวิชาชีพอื่น เพราะทุกสาขาวิชาชีพต้องปฏิบัติตามกฎหมายวิชาชีพของตนเป็นหลัก และได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ ความสามารถ และขอบเขตของการประกอบวิชาชีพไปมากกว่าพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ซึ่งถูกยกเลิกไปตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว


๒) กฎหมายวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐ และระเบียบ
กระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการประกอบวิชาชีพการพยาบาลตามข้อกำหนดในการรักษาโรคเบื้องต้นและการให้ภูมิคุ้มกันโรค พ.ศ.๒๕๔๕ ได้กำหนดให้พยาบาลกระทำการรักษาโรคเบื้องต้นและให้ภูมิคุ้มกันโรคได้ ดังนั้นข้อกฎหมายดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า การรักษาโรคเบื้องต้นและการให้ภูมิคุ้มกันโรคเป็นการประกอบวิชาชีพการพยาบาล ไม่ใช่การประกอบวิชาชีพเวชกรรม รวมทั้งเมื่อมีการตรวจ วินิจฉัยโรคเบื้องต้นแล้ว ถ้าจำเป็นต้องให้ยาผู้ป่วยก็ย่อมให้ได้จึงไม่ใช่การประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ดังนั้น การ
รักษาโรคเบื้องต้นตามกฎหมายวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จึงเป็นไปตามกฎหมายและ
ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติย่อมมีผลบังคับตามกฎหมายวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ เช่นเดียวกัน
ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติยา พ.ศ.๒๕๑๐ ซึ่งมีผลใช้บังคับก่อนมีพระราชบัญญัติ
วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๐ ก็เป็นหน้าที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
สาธารณสุขซึ่งเป็นผู้รักษาการกฎหมายด้านการแพทย์และสาธารณสุขทุกฉบับ จะต้องพิจารณาปรับปรุง
แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับกฎหมายวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบันซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของการออกกฎหมาย


๓) สภาการพยาบาลเป็นองค์กรที่ควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
ให้ดำเนินการตามกฎหมายและมุ่งหวังให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยจากการปฏิบัติของพยาบาลเป็นสำคัญอีกทั้งได้มีการประชุมร่วมกับภาคีวิชาชีพ (แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรมสภากายภาพบำบัด และสภาเทคนิคการแพทย์) เป็นการประจำทุกเดือน เพื่อให้องค์กรวิชาชีพได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาและมีความเห็นเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพและอื่นๆ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๕ ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ก็เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าในวิชาชีพในแต่ละสาขาให้มีความรู้ ความสามารถประกอบวิชาชีพได้โดยถูกต้องตามกฎหมายและมุ่งหวังที่จะให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัย ดังที่กล่าวมาแล้ว


ดังนั้น เมื่อพยาบาลจะทำการรักษาโรคเบื้องต้นก็เป็นการกระทำตามที่กฎหมายวิชาชีพการ
พยาบาลและการผดุงครรภ์กำหนด ไม่ได้ก้าวล้ำกฎหมายวิชาชีพอื่น จึงขอให้สร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน
และสนับสนุนให้พยาบาลที่ตั้งใจปฏิบัติงานที่ถูกต้องตามกฎหมายมีกำลังใจที่จะทุ่มเทในการปฏิบัติงานซึ่งจะเกิดผลดีต่อผู้ป่วยต่อไป




--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น